เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อานิสังสวรรค 6. สมาธิสูตร
6. สมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ
[6] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญา(ความจำได้หมายรู้)ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน1 ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌาน2ว่า
เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน3ว่าเป็นวิญญาณัญจายตน-
ฌาน ในอากิญจัญญายตนฌาน4ว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลก
หน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”

เชิงอรรถ :
1 มีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน หมายถึงการบริกรรมดินเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานโดยกำหนดว่า “ดิน ดิน”
(องฺ.ทสก.อ. 3/6/319)
2 อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นฌาน
ขั้นที่ 1 ของอรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 414/308)
3 วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นฌานขั้นที่ 2 ของ
อรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 414/308)
4 อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญากล่าวคือผู้บรรลุอากิญจัญญายตน-
ฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญานิโรธบ้าง (ที.สี.อ. 414/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :9 }